ปลัด มท.ลงพื้นที่ติดตามงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

ปลัด มท.ลงพื้นที่ติดตามงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นย้ำ ชาวมหาดไทยต้องเป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดี เป็นผู้นำบูรณาการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีในพื้นที่ ถ่ายทอดปณิธานจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อมุ่งมั่นทำหน้าที่ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (31 ม.ค.67) เวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายสุธน ศรีหิรัญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ คนที่ 25 นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง รักษาการในตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ โอกาสนี้ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชูศักดิ์ ราชบุรี นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ นายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายไพโรจน์ จิตจักร์ ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด นายพิชัยยา ตุระซอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ/หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ 20 อำเภอ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกว่า 200 คน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พี่น้องคนมหาดไทยในทุกพื้นที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะหน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การทำให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขในทุกโอกาสของชีวิต ด้วย "ทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน" ทั้งทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน ซึ่งคำว่า แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน กล่าวคือจะต้องบูรณาการคน และบูรณาการงานของทุกกระทรวงทั้ง 20 กระทรวง ในฐานะนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด หรืออำเภอ เป็นผู้นำตามกฎหมาย หลักการทำงานให้สำเร็จจะต้องอาศัยภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอจำเป็นจะต้องน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้แนวทางในการทำงานจากความสำเร็จของโครงการพระราชดำริ 5,151 โครงการ ปัจจัยสำคัญ คือ เราต้อง "ต้องรู้จักคน" ว่า ใครเป็นอย่างไร ใครมีความเป็นจิตอาสา ใครมีความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูล ใครเป็นผู้มีความเสียสละ ฯลฯ แล้ว Put the right man on the right job แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ให้มาเป็น "ทีม" ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ทีมข้าราชการ ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน รวมถึงทีม Agenda หรือทีมนโยบายต่าง ๆ และทีมที่ไม่เป็นทางการหรือทีมจิตอาสา และเมื่อท่านมีทีมแล้วประกอบกับนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ คือ หลัก 4 ร่วม ได้แก่ ร่วมกันคิดพูดคุย ร่วมกันวางแผน ร่วมกันทำ และร่วมกันรับประโยชน์ ที่สำคัญจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จะทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดมีความยั่งยืน ส่งผลให้พวกเรามีความสุขใจที่ได้เห็นประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมอบหลักการทำงานแก่ชาวมหาดไทยนับเนื่องถึงปัจจุบันเป็นเวลา 132 ปีที่ว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" โดยคนมหาดไทยต้องทำงานแบบ "รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด" ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ เห็นพื้นที่เป็นที่ทำงาน ไม่ใช่นั่งทำงานแต่ในสำนักงาน ต้องรู้จัก ต้องเข้าใจสภาพปัญหา สภาพพื้นที่ และความต้องการของประชาชน และต้องรู้จักทั้งทีมงานและกลุ่มเป้าหมายที่เราจะไปพัฒนาด้วย รวมทั้ง "ต้องสื่อสารสังคม" นำเทคโนโลยีปัจจุบันมาช่วยในการทำงาน ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เเละเข้าใจเห็นภาพรวมเดียวกัน จากลักษณะการทำงานข้างต้นนี้ การทำงานจึงต้องสื่อสารกับสังคม แสดงให้เห็นผลงาน สรุปรายละเอียดเสร็จหลังประชุม รายงานผู้บังคับบัญชาและประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ทันที สิ่งที่เราจำเป็นต้องถอดบทเรียน คือ การพัฒนาบุคลากรของเราให้มีรอบรู้ มีความสามารถที่จะบูรณาการเครื่องไม้เครื่องมือหรือภาคีเครือข่ายมาช่วยในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายการทำงาน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวไว้ว่าคนมหาดไทยต้อง "ทันโลก ทันสมัย และทันท่วงที"

"ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ และข้าราชการรุ่นพี่ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ต้องโค้ชชิ่ง (Coaching) ข้าราชการรุ่นใหม่ให้มีสมรรถนะในการทำงาน เพื่อปลูกฝังและหล่อหลอมให้พวกเขาเหล่านั้นได้เป็นทายาทของคนมหาดไทยที่จะมา "สืบทอดการนำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ที่ใช้คำว่าการนำ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ถือเป็นผู้นำ แม้เเต่ปลัดอำเภอที่บรรจุใหม่ก็ตาม เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วก็ถือเป็นหัวหน้าของคนที่อำเภอ มีคำสั่งรักษาราชการเเทนนายอำเภอ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาคนมหาดไทยหรือการ Coaching งานให้เข้าใจโดยเร็ว ในเบื้องต้นมี 3 วิธี ได้แก่ 1) การทำให้เขาดู คือ ผู้นำต้องทำก่อน แล้วเน้นย้ำว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการสอน เพื่อเขาจะได้เปิดใจเรียนรู้ เราคือคนมหาดไทยที่ไม่ว่าอยู่กรมไหนรัฐวิสาหกิจใด ต้องรู้จักคน รู้จักพื้นที่ รู้จักงาน และรู้จักเวลา และต้องมี "วิสาสา ปรมา ญาติ" ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด 2) ต้องมีการพูดคุย สอนงาน แนะนำงาน ซักซ้อม ทำความเข้าใจ อย่างต่อเนื่อง 3) ต้องช่วยกันทำให้คนมหาดไทยมีโอกาส มีประสบการณ์ ทั้งการรู้ การเห็น การได้ลงมือทำ ด้วยการหาพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ที่เป็น Best Practice เพื่อจะได้ซึมซับ ได้สร้างแรงบันดาลใจ ดังนั้น จึงต้องพูดคุยกันให้สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ทำให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เข้าใจเป้าหมายและเจตนารมณ์ในการทำงาน เราเป็นผู้นำจึงต้องรู้มากกว่าคนอื่น และซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ขยายผลได้อย่างถูกต้องเกิดประสิทธิผลสูงสุด" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ประโยชน์ที่คนมหาดไทยจะได้รับ คือ ความสุขใจที่เราได้เห็นพี่น้องประชาชนมีความสุข น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ผ่านกลไกการทำงานที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และร่วมรับประโยชน์ เป้าหมายที่พวกเราอยากให้เกิดขึ้น จุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่ "หมู่บ้าน" ดังนั้น เราต้องช่วยกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้านผ่านการขับเคลื่อน "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" โดยเริ่มจากการมีบ้านเรือนที่ถูกสุขลักษณะ แล้วต่อยอดด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการส่งเสริมให้น้อมนำโครงการพระราชดำริ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พืชสมุนไพร ไม้ป่า 5 ระดับ ผลผลิตที่ได้ล้วนแต่ปลอดสารพิษทั้งสิ้น คนกินก็มีสุขภาพดี มีพลานามัยที่เเข็งเเรง มีการจัดการและคัดแยกขยะที่ถูกต้อง มีธนาคารขยะและมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เติมความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ผืนดินเเละช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ชุมชนสามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือนจากการขายขยะรีไซเคิล คนในชุมชนมีความรักใคร่สามัคคี เป็นคุ้ม ป๊อก หย่อมบ้าน มีตัวเเทนของแต่ละคุ้ม ป๊อก หย่อม คอยดูแลกันเเละกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานทุกเรื่องเชิงพื้นที่ เป็นตัวกลางการป้องกันภัยให้กับประชาชนในทุกด้าน ทั้งนี้ "ผู้นำมีความสำคัญ" ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ในฐานะผู้นำ ต้องเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญ ลงไปเยี่ยมเยียน พูดคุย เป็นตัวอย่าง ไปกระตุ้นปลุกเร้า สร้าง Passion ให้ทีมที่เป็นทางการเเละไม่เป็นทางการ สร้างความตื่นตัว มีระบบสื่อสารระหว่างหมู่บ้าน ตำบล ทั้งในแนวราบเเละแนวดิ่ง เราจะสามารถครองใจชาวบ้านได้ ครองคน ครองงานได้ ก็เป็นไปตามหลักความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ดูแลคนทุกช่วงวัยตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึงเชิงตะกอน

"ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ขอให้พวกเราทุกคนมุ่งมั่นเป็น "ราชสีห์ผู้จงรักภักดี" เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อที่ 17 "Partnership" หรือหุ้นส่วนการพัฒนา ทำให้พี่น้องทุกภาคีเครือข่ายมีใจจดจ่อที่จะทำแต่ประโยชน์เพื่อส่วนรวม ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ "76 จังหวัด 76 คํามั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) กับสหประชาชาติประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ขยายผลสิ่งเหล่านี้ ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน เป็นจังหวัดยั่งยืน อำเภอยั่งยืน ตำบลยั่งยืน ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน" เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


เครดิต : ในประเทศ - ปลัด มท.ลงพื้นที่ติดตามงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด (naewna.com)